หน้าแรก ย้อนกลับ “ภูเก็ต : เคบายา บาบ๋า เพอรานากัน”
“ภูเก็ต : เคบายา บาบ๋า เพอรานากัน”
จรรยา หีดแก้ว1
กลิ่นอายทะเลในวันวาน ท่วงทำนองเกลียวคลื่นที่เคยสัมผัส แสงแรกของตะวันยามลับขอบฟ้า ยังคงตราตรึงอยู่ในใจไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสำเนียงเสียงพูดของผู้คนยังคงก้องกังวานอยู่ในหู ทุ้มอยู่ในใจ และหนักแน่นในความทรงจำเสมอยามหวนนึกถึงชีวิตช่วงหนึ่งครั้งเคยอาศัยเกาะแห่งนี้เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีพหลังจากจบการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย การกลับมาภูเก็ตในทุก ๆ ครั้งจึงเป็นเรื่องที่พิเศษและเต็มไปด้วยความหมายเสมอ โดยเฉพาะครั้งนี้ ผู้เขียนจะนำพาทุกท่านไปทำความรู้จัก “ภูเก็จ” ผ่านทางวัฒนธรรม “เคบายา บาบ๋า เพอรานากัน” วัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของเกาะแห่งนี้ หลังจาก UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนให้ “เคบายา” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ภูเก็ตยามนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก หลายสิ่งหลายอย่างแปลกหูแปลกตาไปจากเดิม บนถนนเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ผู้คนต่างถิ่น ทุกมุมเมืองเต็มไปด้วยร้านรวงจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ยิ่งภูเก็ต เปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่ เสน่ห์ความเป็น “ภูเก็จ” ดั้งเดิมยิ่งฉายชัด วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นยังคงดำรงอยู่อย่างร่วมสมัย มีมูลค่า สร้างรายได้ และดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาทำความรู้จัก โดยเฉพาะอัตลักษณ์และวิถีแห่งวัฒนธรรม “บาบ๋า เพอรานากัน” ของชาวภูเก็ตพื้นเมืองที่สะท้อนให้เห็นผ่านทางอาคาร อาหาร อาภรณ์อย่างชัดเจนและพร่างพรายไปด้วยมนต์เสน่ห์ทั่วเมืองภูเก็ต
คำว่า “ภูเก็ต” นั้น เพี้ยนมาจากคำว่า “บูกิ๊ต” ซึ่งเป็นภาษามลายูที่แปลว่าภูเขา และในอดีต “ภูเก็ต” ใช้คำว่า “ภูเก็จ” ซึ่งแปลว่า “ภูเขาแก้ว” ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน โดดเด่นเรื่องวัฒนธรรม และเป็นดินแดนแห่งแร่ดีบุกที่มีมากที่สุดในไทย ในอดีตภูเก็ตเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตามพรลิงก์ จนถึงสมัยสุโขทัยก็ได้ไปขึ้นอยู่กับเมืองตะกั่วป่า ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงรวบรวมหัวเมืองชายทะเลตะวันตกตั้งเป็น “มณฑลภูเก็จ” และในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาลทั่วประเทศ “มณฑลภูเก็จ” จึงเปลี่ยนมาเป็น “จังหวัดภูเก็ต” นับแต่นั้นมา
ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักวิทยาศาสตร์พบว่าการเอาดีบุกไปเคลือบเหล็กสามารถป้องกันสนิมได้ความต้องเหล็กเคลือบดีบุกไปทำกระป๋องบรรจุอาหารจึงมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เมื่อตลาดยุโรปต้องการแร่ดีบุกไปใช้งานมาก รัฐบาลไทยจึงอนุญาตให้ราษฎรสามารถขุดแร่ดีบุกขายได้อย่างอิสระ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานอย่างมากในภูเก็ต เจ้าเมืองภูเก็ตในสมัยนั้นจึงจ้างคนจีนฮกเกี้ยนจำนวนหนึ่งเข้ามาทำงาน ประกอบกับปัญหาความยากลำบากอันเกิดจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ปัญหาสงครามกลางเมือง และภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศจีน ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2379) จึงทำให้เกิดการหลั่งไหลของชาวจีนฮกเกี้ยนซึ่งเดินทางโดยเรือสำเภาออกจากมณฑลฝูเจี้ยน ผ่านทาง มะละกา ปีนัง แล้วเข้าสู่เกาะภูเก็ตอย่างมากมาย และเกิดการผสมทางวัฒนธรรม เรียกว่าเพอรานากันภูเก็ตหรือบาบ๋าภูเก็ตในที่สุด
“เพอรานากันภูเก็ต” หรือ “บาบ๋าภูเก็ต” จึงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการผสมผสานระหว่างเชื้อชาติจีนและชาวพื้นเมืองเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อมีทายาทเป็นบุตรชายจะเรียกแทนตัวว่า “บาบ๋า” เมื่อมีบุตรสาวก็จะเรียกแทนตัวว่า “ยอนยา” หรือ “ญ่อญ่ะ ทั้งนี้โดยทั่วไปนิยมเรียกลูกผสมระหว่างพ่อที่เป็นชาวจีนและแม่เป็นชาวพื้นถิ่นในจังหวัดภูเก็ตว่า “บาบ๋า” มากกว่า “เพอรานากัน” เนื่องจากคำว่าเพอรานากันจะนิยมใช้เรียกผู้มีเชื้อสายผสมที่มีถิ่นฐานอาศัยอยู่บริเวณช่องแคบมะละกา ปีนัง และสิงคโปร์ นอกจากนี้หนึ่งในวัฒนธรรมสำคัญที่แสดงถึงอัตลักษณ์
ของสตรีบาบ๋าในภาคใต้ของไทย ซึ่งรวมถึงสตรีบาบ๋าภูเก็ต นั่นก็คือ “การสวมชุดเสื้อเคบายา” สวมเสื้อในครึ่งตัว
(บราเซีย) นุ่งโสร่งปาเต๊ะที่มีการเขียนลายด้วยมือตลอดทั้งผืนในโอสาสสำคัญทางวัฒนธรรมประเพณี
ซึ่งการแต่งกายของสตรีบาบ๋าได้บ่งบอกและสะท้อนถึงฐานะทางสังคมอีกด้วย
ภูเก็ตนิยมเรียกเสื้อเคบายาว่า “เสื้อย่าหยา” ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายแฟชั่นยอดนิยมของสตรีชาวบาบ๋าภูเก็ต ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2463-2500 โดยเสื้อเคบายาสำหรับสตรีบาบ๋าในจังหวัดภูเก็ต จะมีรูปแบบมาจากวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวมลายูดั้งเดิม โดยปรับรูปแบบให้เน้นทรวดทรงและลดความยาวตัวเสื้อให้อยู่เหนือสะโพก ตกแต่งด้วยผ้าลูกไม้หรือเทคนิคการฉลุผ้าแบบตะวันตกปักลวดลายมงคลตามคตินิยมจีน ทั้งนี้เสื้อย่าหยาได้พัฒนามาจากการสวมเสื้อคอตั้งและเสื้อครุยท่อนของสตรีบาบ๋าภูเก็ตในสมัยอดีต กล่าวโดยสรุป “เสื้อเคบายา” มีลักษณะผ่าหน้าตั้งแต่ลำคอถึงริมเสื้อ แขนยาว ปลายเสื้อด้านหน้าเรียวแหลมระดับหน้าขา ด้านหลังสั้นระดับสะโพก ตกแต่งตัวเสื้อด้วยงานหัตถศิลป์เรื่องการเย็บ ถัก ปักสะดึงเป็นลวดลายดอกไม้ สัตว์ และพฤกษา เถาวัลย์พันธุ์ไม้ ใช้เข็มกลัดโกสังชุด หรือกอรอสังรันตีย์ รั้งสาบเสื้อแทนกระดุมโดยเสื้อเคบายา มี 3 รูปแบบ ดังนี้
1.เคบายาลินดา เป็นเสื้อสมัยแรกเริ่ม นิยมสวมใส่ในช่วงประมาณปี พ.ศ.2463-2473 นิยมใช้ผ้าป่านหลากสี หรือเป็นผ้าหนาชนิดมีลายดอก ปลายเสื้อด้านหน้าแหลมยาว แต่ด้านหลังจะสั้นกว่าคลุมสะโพก เข้ารูปเล็กน้อยไม่ถึงกับรัดรูป ชายเสื้อ ปลายแขนเสื้อ ขอบปกและคอเสื้อติดผ้าลูกไม้ถักจากยุโรป ฮอลันดาเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านการผลิตผ้าลูกไม้ทำมือ คนขายผ้าในภูเก็ต เรียกว่า รูเมีย แต่ชาวอังกฤษ เรียกว่า ออกันดี ลูกไม้ตกแต่งตัวเสื้อจะมีสีขาวเท่านั้น ใช้ชุดเครื่องประดับกอรอสังมีเข็มกลัด 3 ตัว กลัดโยงกันลักษณะเป็นลายเครือเถาดอกไม้ หรือรูปสัตว์มงคลแมลงปอ ใบไม้โยงด้วยสายสร้อยเชื่อมต่อกัน ทำด้วยทองหรือนาก ใช้ติดเสื้อแทนกระดุม เป็นเสื้อเข้ารูปในภาษามลายูเรียกว่า “Kebaya” สำหรับชาวจีนเรียกว่า “ปัวตึ่งเต้” (ครึ่งสั้นครึ่งยาว)
2.เคบายาบีกู พัฒนาการช่วงที่ 2 นิยมสวมใส่ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2473 – 2483 ซึ่งถือเป็นการพัฒนาแฟชั่นเสื้อของผู้หญิงบาบ๋าอีกรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากความเจริญด้านเทคโนโลยีทำให้รูปแบบของเสื้อเปลี่ยนไป ตัวเสื้อใช้นวัตกรรมเครื่องจักรในการปักฉลุลายบนเนื้อผ้าและริมขอบเสื้อทั้งตัวด้วยวิธีคัตเวิร์คเป็นเส้นโค้ง ลายที่นิยมคือลายหอยแครง ผ้าที่ใช้ตัดเสื้อเป็นผ้าผืน ผู้หญิงบาบ๋าส่วนใหญ่จะปักลายของเสื้อด้วยตนเอง
3.เคบายาซูแลม นิยมอยู่ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2483-2500 ลักษณะคล้ายเคบายาบีกู แตกต่างกันตรงลายฉลุที่งดงาม มากกว่า เน้นการฉลุลายด้วยสีสันสวยงามทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เสื้อแบบนี้ปรากฏในภูเก็ตจนถึง ประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เสื้อย่าหยา แบบเคบายาบีกู และเคบายาซูแลม ค่อนข้างเน้นทรวดทรงมากและเสื้อตัวในซึ่งเป็นเสื้อซับในปรับเปลี่ยนจากเสื้อคอกระเช้า ริมติดลูกไม้เล็กมาเป็นเสื้อชั้นในบราเซีย
จากความงดงามของตัวเสื้อเคบายาที่เปล่งประกายด้วยลวดลายและภูมิปัญญาการตัดเย็บ ได้สะท้อนถึงวัฒนธรรมเพอรานากันที่มีร่วมกันของผู้คนในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนในไทย บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ดินแดนซึ่งชาวจีนฮกเกี้ยนแวะตั้งหลักปักถิ่นฐานครั้งยามโล้สำเภาออกจากมณฑลฝูเจี้ยนในยุคอดีตจึงมีความเชื่อมโยงและผูกพันกันดังเกลียวคลื่นตลอดสายน้ำที่เรือสำเภาแล่นผ่าน และถือเป็นจุดกำเนิดลูกหลานชาวเพอรานากันที่เจริญเติบโตอย่างงดงามอย่างเช่นทุกวันนี้ ดังนั้นการที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ขึ้นทะเบียน “เคบายา” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติร่วมกันของ 5 ชาติ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของวัฒธรรมเพอรานากันในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ปรากฏชัดต่อสายตาชาวโลก ดังนั้นการได้ขึ้นทะเบียนเคบายาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมในครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่ความภูมิใจของลูกหลานชาวบาบ๋า หากแต่เป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของผู้คนทั้ง 5 ชาติ
ก่อนลาจากเกาะภูเก็ตในวันนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณภัชชนก หาญอนุพงศ์ เจ้าของห้องเสื้อ Baba Phuket ผู้ซึ่งคลุกคลีและใช้ชีวิตกับวัฒนธรรมเพอรานากันตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันท่ามกลางบรรยากาศนักท่องเที่ยวที่แสนคับคั่งในย่าน Phuket Old Town การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวของเพอรานากัน ชุดบาบ๋า ย่าหยา เต็มไปด้วยความสนุก อรรถรส และรอยยิ้มที่พิมพ์ใจภายใต้ชุดบาบ๋าภูเก็ตที่มีการประยุกต์เป็นแฟชั่นที่ทันสมัย สวยงาม….และนี่คือบทสรุปทิ้งท้ายที่คุณภัชชนกได้กล่าวไว้ก่อนจากลา
“ปัจจุบันชุดบาบ๋า ย่าหยา ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวภูเก็ต นิยมสวมใส่ในงานสำคัญ เช่น งานแต่งงานแบบบาบ๋า ที่เจ้าสาวจะสวมชุดย่าหยาสีสันสดใส งานตรุษจีน และเทศกาลภูเก็ตเมืองเก่า ซึ่งประชาชนจะสวมชุดนี้เพื่อเฉลิมฉลองและถ่ายภาพ การอนุรักษ์วัฒนธรรม หลายครอบครัวชาวภูเก็ตยังคงสวมใส่ชุดนี้ในโอกาสพิเศษเพื่อแสดงถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรม ชุดบาบ๋า ย่าหยา กลายเป็นเสน่ห์ทางวัฒนธรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเขตเมืองเก่าภูเก็ต นอกจากนี้ปัจจุบันวัฒนธรรมการแต่งชุดบาบ๋า ย่าหยา ยังคงได้รับความนิยมทั้งชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและเป็นเสน่ห์สำคัญของการท่องเที่ยวภูเก็ตในยามนี้ ทั้งนี้โดยทั่วไปนักท่องเที่ยวมักนิยมเช่าหรือซื้อชุดบาบ๋า ย่าหยา เพื่อสวมใส่ถ่ายภาพ เก็บความทรงจำกับสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส เข้าร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น การเดินชมเมืองเก่าภูเก็ตในชุดบาบ๋า ซื้อเป็นของที่ระลึก ทำให้ธุรกิจร้านเช่าชุดและร้านขายชุดบาบ๋า ย่าหยาเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” (การสัมภาษณ์ส่วนบุคคล, 4 กุมภาพันธ์, 2568)
กลับไปภูเก็ตครานี้แทนที่ความคิดถึงภูเก็ตจะลดน้อยลงไปบ้าง กลับดื่มด่ำความเป็นภูเก็ตจนยากที่จะลืมเลือนเพิ่มไปอีก แอบสัญญากับตัวเองว่า “เร็วนี้ ๆ ต้องหาโอกาสกลับไปถ่ายรูปกับชุดบาบ๋า ย่าหยาที่ถนนเมืองเก่าภูเก็ตให้ได้” แล้วพบกันใหม่ในครั้งหน้า ผู้เขียนจะมาบอกเล่าเรื่องราวภูมิปัญญาการตัดเย็บ เชิงช่าง เครื่องประดับ และแหล่งที่มาของผ้าในการทำชุดบาบ๋า ย่าหยา จังหวัดภูเก็ต
รับชม Tiktok เคบายา บาบ๋า เพอรานากัน (Thai) ได้ที่ https://www.tiktok.com/@selfpsu/video/7476414174722100498
รับชม Tiktok เคบายา บาบ๋า เพอรานากัน (Eng) ได้ที่ https://www.tiktok.com/@selfpsu/video/7476413173671759111
รับชม บทสัมภาษณ์คุณภัชชนก หาญอนุพงศ์ เจ้าของห้องเสื้อ BABA Phuket จังหวัดภูเก็ต ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=mpQTvIs3jpU
1นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
จุดกำเนิดเพอรานากัน. (ม.ป.ป.). พิพิธภัณฑ์เพอรานากัน ภูเก็ต. สืบค้น 3 กุมภาพันธ์ 2568, จากhttps://peranakanphuketmuseum.com/
ประเภทของชุดเคบายา. (ม.ป.ป.). พิพิธภัณฑ์เพอรานากัน ภูเก็ต. สืบค้น 3 กุมภาพันธ์ 2568, จาก https://peranakanphuketmuseum.com/
ประวัติเมืองภูเก็ต. (ม.ป.ป.) Phuket Tour Today. สืบค้น 3 กุมภาพันธ์ 2568, จาก https://www.phukettourtoday.com/info/phuket/history
วิกรม กรุงแก้ว. (2566). เคบายา : วัฒนธรรมการแต่งกายสตรีบาบ๋าภาคใต้ฝั่งตะวันตก. วารสารศิลปกรรมศาสตร์
วิชาการ วิจัย และงานสร้างสรรค์. 10(2), 52-65. https://so05.tci-haijo.org/index.php/arts/article/view/269961
แชร์ 511 ผู้ชม