หน้าแรก ย้อนกลับ “หนังตะลุงประตก มรดกภูมิปัญญาอันดามัน”
“หนังตะลุงประตก มรดกภูมิปัญญาอันดามัน”
จรรยา หีดแก้ว1
ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เรื่องราวของมรดกภูมิปัญญาอันดามัน “หนังตะลุงประตก” ที่ได้กำเนิด สืบสาน รักษา และต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่านี้ไว้ ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านลิพอนใต้ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ผ่านทางการบอกเล่าของนายหนังยมนา ผู้ทำหน้าที่สืบทอดหนังตะลุงประตกรุ่นที่ 5 แห่งสายตระกูล “ผสมทรัพย์” ท่ามกลางบรรยากาศบ่ายคล้อย แสงแดดอ่อน ๆ และตัวหนังตะลุงที่วางเรียงรายบนแคร่ไม้ไผ่ที่มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน
ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านลิพอนใต้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่น้อมนำพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชุมชนและปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวหมู่บ้านโอท็อปนวัตวิถีที่มุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ กับคนในชุมชน เช่น การทำผ้าปาเต๊ะเพ้นท์ การทำปลาถ้ำ การทำเครื่องข้าวยำ และการแสดงหนังตะลุงประตก ซึ่งปัจจุบันมีนายหนังยมนา ผสมทรัพย์ รองประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านลิพอนใต้เป็นผู้ดูแลและสืบทอดการแสดงหนังตะลุงประตกต่อจากนายหนังชวนผู้เป็นพ่อและครูในเวลาเดียวกัน นายหนังยมนาซึมซับความรู้เกี่ยวกับหนังตะลุงประตกจากนายหนังชวนตั้งแต่วัยเด็ก โดยได้ร่วมเล่นดนตรีให้กับนายหนังชวนเวลาทำการแสดงในงานต่าง ๆ
หนังตะลุงประตกเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของจังหวัดภูเก็ตและพังงา โดยมีการนำตัวหนังตะลุงหรือหนังควายมาเชิดบนจอผ้าเพื่อให้เป็นเงา บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในสังคมตามยุคสมัย หรือแสดงเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ด้วยบทร้อยกรองที่ขับร้องหรือที่เรียกกันว่า “ว่าบท” เป็นภาษาถิ่นผสมคำราชาศัพท์เพื่อความสนุกสนาน ความบันเทิง หรือเพื่อพิธีกรรมการแก้เหมรย (แก้บน) ของคนในชุมชนทั้งนี้ความแตกต่างระหว่างการแสดงหนังตะลุงของฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก คือ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก (ภูเก็ต) จะใช้ภาษาถิ่นในการพากษ์ทุกตัวละคร ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะให้ตัวละครสำคัญ เช่น พระเอก นางเอก หรือกษัตริย์พูดภาษากลาง ตัวหนังฝั่งประออกจะมีการแกะตัวหนังเพียงแค่เท้าหรือรองเท้า หนังฝั่งประตกมีการแกะตัวหนังที่เพิ่มเติมจากส่วนเท้า คือ ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น เหยียบบนลายกนก เหยียบบนตัวพญานาค เหยียบบนลายไทย โดยการแสดง “หนังตะลุงประตก” มี 9 ขั้นตอน ดังนี้
1. การเบิกโรง นายหนังเริ่มต้นการแสดงด้วยการไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อธิฐานจิต พระแม่ธรณี เทพยดาอารักษ์ เจ้าป่าเจ้าเขา “ขออนุญาตทำการแสดง อย่าให้มีอุปสรรค” ซึ่งจะมีคาถาเฉพาะนายหนังที่ได้รับการสืบทอด ต่อ ๆ กันมา
2. การโหมโรง เป็นการบรรเลงดนตรีล้วน ๆ เพื่อเรียกคนดูและให้นายหนังได้เตรียมพร้อม เชิดเครื่องดนตรี กลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ (เครื่อง 5)
3. เชิดรูปฤๅษี การเชิดรูปฤๅษีจะเชิดก่อนการแสดงตัวหนังอื่น ๆ เพราะฤๅษีในที่นี้ หมายถึง ครูบาอาจารย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เปรียบเสมือนพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ ทำให้การแสดงหนังราบรื่น ตลอดการแสดงหนังตะลุงประตก
4. เชิดรูป หน้าน้ำ หน้าไฟ คือการกล่าวบทและเชิดตัวหนัง มีการกล่าวพูด กล่าวบทกลอน เกี่ยวกับเรื่องธรรมะและอธรรม รวมถึงเชิด ลิงขาวลิงดำ เพื่อเป็นปริศนาธรรม แสดงให้เห็น ความดีและความชั่ว ที่มีอยู่ในสังคม
5. ออกรูปปลายหน้าบท การออกรูปปลายหน้าบท หรือ รูปกราด คือการขับกลอนเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นทำนองไหว้พระ สวัสดีผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่ในชุมชน สวัสดีเจ้าภาพที่เชิญให้มาทำการแสดงเชิดรูปออกจอทำท่าสวัสดีผู้ชม
6. ออกรูปบอกเรื่อง เป็นการแนะนำตัวนายหนัง เล่าเรื่องที่จะทำการแสดงในวันนี้ รายละเอียดการแสดงถ้าเป็นการเล่นเพื่อแก้บน จะนิยมแสดง เรื่อง รามเกียรติ์ ตอนใดตอนหนึ่ง แต่ถ้าเป็นการแสดงเรื่องทั่วไปสามารถแสดงเรื่องอะไรก็ได้ แล้วแต่นายหนัง
7. การตั้งนามเมือง ตั้งนามเมือง เป็นการเปิดเรื่องหรือจับเรื่องโดยสมมุติขึ้นเป็นเมืองแห่งหนึ่งตามนิยายที่นำมาแสดง การตั้งนามเมืองนายหนังจะนำรูปเจ้าเมืองและมเหสีออกมาปักหน้าจอแล้วว่ากลอนบรรยายสภาพบ้านเมือง บอกนามเมืองและชื่อตัวละคร ตลอดจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
8. การแสดงหนังตะลุงตามเรื่องที่แจ้ง เป็นการแสดงหนังตะลุงตามเรื่องที่แจ้ง เป็นเรื่องที่นายหนังแต่งขึ้นมา โดยมีการสอดแทรกคติ สอนใจ เช่น การทำดีได้ดี การทำชั่วได้ชั่ว
9. ก่อนจบการแสดง ก่อนจบการแสดงนายหนังจะทำพิธีปักฤๅษี คือเอารูปฤๅษีมาปักที่จอหนัง
เป็นการบอกกล่าวว่า การแสดงหนังตะลุงได้จบลงแล้ว เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
ตัวหนังตะลุงประตก มีจำนวน 12 ตัว ประกอบด้วย
1. เณรพร เป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ของคณะหนังตะลุงทุกคณะที่มีในจังหวัดภูเก็ต ตามความเชื่อสามารถขอพรได้ (ขอได้ ไหว้รับ) มีบทบาท เป็นเด็กวัด อาศัยอยู่กับพระฤๅษีซึ่งกำหนดบทบาทเป็นตัวแทนของความดี หรือฝ่ายธรรมะ
2. รูปพระฤๅษี เป็นตัวหนังเด่นของเรื่อง ใช้เล่นเป็นตัวละครในเรื่องการให้ข้อคิด การสั่งสอน อบรม ให้วิชา ให้ความรู้ แก่ตัวละครในเรื่องที่ตกทุกข์ได้ยาก
3. ลิงดำ ลิงขาว เป็นตัวหนังรูปลิง มีสีดำและสีขาว ใช้เป็นตัวแทนของความดีและความชั่ว หรือฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม ซึ่งตัวหนังจะใช้เล่นในพิธีกรรมการออกหน้าบท
4. นายก้าง เป็นตัวหนังที่มีบทบาทเด่นเรื่องความตลก พูดติดอ่าง จะเป็นผู้ติดตามที่คอยให้ความช่วยเหลือตัวเอกของเรื่อง เป็นฝ่ายดี
5. นายสีแก้ว เป็นตัวหนัง ซึ่งเป็นคู่หูกับนายก้าง จุดเด่น คือ มีความตลก แต่พูดจาจริงใจ เป็นผู้ติดตามตัวเอกของเรื่อง คอยให้ความช่วยเหลือ เป็นฝ่ายดี
6. นายย่องเกาะ เป็นตัวหนังจุดเด่น คือ มีความตลก เป็นฝ่ายดี พูดจาสำเนียงคนแขกทางภาคใต้ รับบทอิสระ สามารถเข้ามาในบทตอนไหนก็ได้
7. รูปเจ้าชาย (พระเอก) เป็นตัวหนังเด่นของเรื่อง เป็นรูปเจ้าชายมีฤทธิ์เดช มีพลัง มีความกล้าหาญ ไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใด มีความมุมานะและความเพียร เป็นเลิศ
8. รูปนาง (นางเอก) เป็นตัวหนังเด่นของเรื่อง เป็นรูปเจ้าหญิง ท่าทางการยืนถือดาบ ซึ่งแสดงความมีฤทธิ์เดช มีพลัง มีความกล้าหาญ ไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใด จิตใจเข้มแข็ง
9. รูปพระราม เป็นตัวหนังเด่นของเรื่อง มีวงรัศมีรอบศีรษะใช้เล่นแก้บน หรือพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน เล่นในบทวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ เป็นฝ่ายดี
10. รูปทศกัณฐ์ เป็นตัวหนังเด่นของเรื่อง มีวงรัศมีรอบศีรษะ ลักษณะเด่นของทศกัณฐ์ คือ มีหน้ายักษ์บน ศีรษะและตรงหน้าอก เล่นในบทวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ เป็นฝ่ายชั่ว ใช้สำหรับเล่นแก้บน หรือพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน
11. รูปหนุมาน เป็นตัวหนังเด่นของเรื่อง ใช้เล่นเป็นตัวละครในเรื่องทั่วไปได้ สามารถเป็นได้ทั้งฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม แล้วแต่นายหนังจะกำหนดบทบาทให้ตัวละคร อรรถรสในการชมหนังตะลุง
12. รูปยักษ์ เป็นตัวหนังเด่นของเรื่อง ใช้เล่นเป็นตัวละครในเรื่องทั่วไปได้ ถ้ายักษ์ใจดี ฝ่ายธรรมะจะยืนปกติ เหมือนมนุษย์ ถ้ายักษ์ใจร้าย ฝ่ายอธรรม จะยืนยกขาเหมือนจะกระทืบ แสดงความโมโห เกรี้ยวกราด
กรรมวิธีการแกะหนัง มี 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. เตรียมหนัง หนังสัตว์ที่ช่างนิยมนำมาแกะรูปหนังมี 2 อย่าง คือ หนังวัว และหนังควาย เพราะหนังมีความหนาพอเหมาะ เหนียวทนทาน เมื่อฟอกแล้วจะโปร่งแสง
2. ร่างภาพ การร่างภาพเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดในการแกะรูปหนัง ช่างส่วนหนึ่งไม่สามารถร่างภาพได้ ทำหน้าที่เพียงเตรียมหนังแกะฉลุหรือลงสีเท่านั้น งานร่างภาพเป็นงานที่ประณีตต้องมีความสามารถในการออกแบบ
ซึ่งต้องใช้ความรู้ จินตนาการ ฝีมือ และทักษะประกอบกัน
3. แกะฉลุ เมื่อร่างภาพเสร็จแล้วก็ถึงขั้นที่ต้องใช้ความชำนาญและต้องพิถีพิถันมาก เพื่อให้ได้ดอกลายอ่อนช้อยงดงาม ช่วงจังหวะของดอกลายหรือกนกแต่ละตัวต้องพอเหมาะพอดี
4. ลงสี การลงสีหนังขึ้นอยู่กับลักษณะรูปและประโยชน์การใช้สอยรูปหนังสำหรับเชิดมีความมุ่งหมายจะใช้แสดงนาฏกรรมเล่นแสง สี และเงา ต้องการความเด่นสะดุดตาช่างจึงเลือกใช้สีฉูดฉาดเอาสีที่ตัดกันมาใช้ร่วมกัน
5. ลงน้ำมันชักเงา เมื่อลงสีรูปหนังเสร็จ ก็ถือว่ารูปหนังเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีการลงน้ำมันชักเงาหรือไม่ก็ได้ แต่โดยทั่วไปถ้าเป็นรูปหนังเชิดมักจะลงน้ำมันชักเงาด้วย ทั้งนี้เพราะน้ำมันชักเงาช่วยขับให้ตัวหนังเป็นมันงามเมื่อออกจอผ้าขาว จะดูสวยยิ่งขึ้น
เครื่องมือที่ใช้ในการแกะหนัง ประกอบด้วย
1. กระดาษเขียง
2. มีดแกะ นิยมใช้มีดปลายเล็กเล่มหนึ่ง ปลายใหญ่เล่มหนึ่ง เพื่อให้เหมาะกับงาน และหยาบตามลำดับ
3. ตุ๊ดตู่ นิยมใช้เบอร์ 10 – 17 มีจำนวนหนึ่งชุด เพื่อใช้ตอกตามลวดลาย
4. ค้อน นิยมใช้ฆ้องช่างทอง เพราะน้ำหนักพอดีกับงานแกะ
5. เหล็กเขียนลาย เป็นเหล็กเนื้อแข็ง ปลายแหลม
6. สีผึ้ง มีไว้เพื่อชุบปลายมีด หรือปลายตุ๊ดตู่ เพื่อให้เกิดความลื่น ทำงานได้เร็วขึ้น
ก่อนกล่าวคำร่ำลา นายหนังยมนาได้สาธิตการแสดงหนังตะลุงประตกให้ชม แม้ว่าจะเป็นการว่าบทสั้น ๆ ไร้ซึ่งการเล่นเครื่องดนตรีสดประกอบแต่ก็ไม่อาจปิดบังสายตาอันมุ่งมั่นของผู้สืบทอดศิลปะการแสดงอันทรงคุณค่านี้ที่แสดงออกมาผ่านทางตัวหนังตะลุงได้ ดังนั้นทันทีที่การสาธิตจบลง คำถามสุดท้ายที่เกี่ยวกับการสืบทอดหนังตะลุงประตกไม่ให้สูญหายหรือถูกกลืนไปกับนานาวัฒนธรรมที่รายล้อมเกาะแห่งนี้ปลิวหายไปจากใจผู้เขียนอย่างไร้ข้อสงสัย ยิ่งนายหนังยมนาบอกกล่าวก่อนลาจากว่า “ตนเองยังสามารถแสดงหนังตะลุงต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหา ถึงแม้ว่าตอนนี้จะไม่ได้เลือกผู้สืบทอดหนังตะลุงรุ่นถัดไป แต่ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกะทันหัน ยังมีพี่ชายและญาติที่ยังคงมีการแสดงและสืบทอดหนังตะลุงประตกอยู่เป็นรุ่นที่ 6 ต่อแน่นอน” (การสัมภาษณ์ส่วนบุคคล, 15 กุมภาพันธ์ 2568) ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า “สายตระกูลสะสมทรัพย์” ตระหนักและเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้มากกว่าใคร
ผู้เขียนขอเป็นตัวแทนลูกหลานชาวใต้กล่าวคำขอบคุณและคารวะในจิตอันแน่วแน่ในการทำหน้าที่อนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอด “หนังตะลุงประตก” มรดกภูมิปัญญาอันดามัน ซึ่งถือเป็นมรดกโลก จากรุ่นสู่รุ่นของสายตระกูล “สะสมทรัพย์” มา ณ ที่นี้ และหากท่านใดต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านลิพอนใต้ ภายใต้การดูแลของคุณอำพร สะสมทรัพย์ ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านลิพอนใต้ จังหวัดภูเก็ต คอยเปิดประตูต้อนรับทุกท่านเสมอ
รับชม Tiktok หนังตะลุงประตก (Thai) ได้ที่ https://www.tiktok.com/@selfpsu/video/7476411512651926791
รับชม Tiktok หนังตะลุงประตก (Eng) ได้ที่ https://www.tiktok.com/@selfpsu/video/7476412121601920273
1นักวิชาการอุดมศึกษาชำนาญการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
หนังตะลุงประตก. (ม.ป.ป.). หนังสือด้านวัฒนธรรม. สืบค้น 5 กุมภาพันธ์ 2568, จาก http://book.culture.go.th/softpower/talung.pdf
แชร์ 458 ผู้ชม